บอนสีเป็นพืชในสกุล Caladium วงศ์ Araeae มีชื่อวิทยาศาสตรว่า Caladium bicolor เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี ทุกส่วนอวบน้ำ มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวแบบมันฝรั่ง (tuber) ทำหน้าที่สะสมอาหาร มีตาหรือที่เรียกกันว่า "เขี้ยว" รอบหัว สามารถแตกรากฝอยได้รอบ
หัวบอนสี มี 2 ลักษณะคือ หัวทรงกลมและหัวเป็นแท่งทรงกระบอก เนื้อในสีขาว สีเหลืองอ่อน สีส้มอ่อน มีน้ำยางที่มีแคลเซียม (Calcium oxalate) มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้คัน จะพักหัวในฤดูหนาวโดยค่อยๆ ทิ้งใบจนหมด และจะแตกใบขึ้นมาใหม่ตอนฝนตก
ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วย ช่อเชิงลดมีกาบ (spadix) หรือที่เรียกว่า ปลีดอก และกาบ (หุ้มช่อดอก) (spathe) หรือที่เรียกว่าจานรองดอก บนปลีดอกประกอบด้วยดอกเพศผู่ที่สมบูรณ์ เมื่อบานมีกลิ่นหอมอ่อนๆ และบานก่อนดอกเพศเมียที่อยู่ด้านล่างและห่อหุ้มด้วยจานดอก กว่าดอกเพศเมียจะบานละอองเกษรเพศผู้ที่สมบูรณ์บนช่อดอกก็ปลิวหายไปหมดแล้ว ผู้ผสมพันธุ์บอนสีจึงต้องเก็บละอองเกษรตัวผู้ที่สมบูรณ์ใส่ภาชนะทึบแสงแล้วแช่เย็นไว้เพื่อรอดอกเพศเมียสมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์จึงทำการผสมพันธุ์ต่อไป
ผลของบอนสีติดเป็นช่อ มีเนื้อนุ่ม ภายในมีเมล็ด 1-2 เมล็ด สีน้ำตาลไหม้ ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร แต่ละช่อผลติดผลได้มากถึง 500 เมล็ด
ใบ มีรูปทรงหลายแบบ ทั้งรูปหัวใจ รูปกลม รูปขอบขนาน และรูปแถบ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ มีสีสันแตกต่างกัน ทั้งสีแดง เหลือง ชมพู ขาว ม่วง เขียว น้ำตาล บางพันธุ์มีจุดแต้ม เรียกว่า "เม็ด" หรือแถบด่างเรียกว่า "ป้าย" บนใบ ขอบใบเรียบหรือย่นเป็นคลื่น ก้านใบกลมออกจากกึ่งกลางใบเรียกว่า "สะดือ" บางพันธุ์ก้านใบแผ่ออกและมีรยางค์ (แข้ง) ยื่นออกจากก้าน
ประเภทของบอนสี
บอนใบไทย |
บอนใบยาว |
บอนใบกลม |
- บอนใบไทย ใบรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ก้านใบกลมออกจากกึ่งกลางใบ หูใบฉีกไม่ถึงก้านใบ
- บอนใบยาว ใบรูปหัวใจคล้ายบอนใบไทยแต่ใบเรียวกว่า ปลายใบเรียวแหลม ก้านใบกลมออกจากโคนใบ หูใบยาวฉีกถึงก้านใบ
- บอนใบกลม ใบค่อนข้างกลม ปลายใบมนหรือมนมีติ่งแหลม ก้านใบกลมอยู่กึ่งกลางใบ
- บอนใบกาบ ใบคล้ายรูปหัวใจ ก้านใบแ่แบนตั้งแต่โคนใบถึงแข้ง ลักษณะคล้ายใบผักกาด
- บอนใบไผ่ ใบรูปแถบแคบหรือเป็นเส้น ปลายใบเรียวแหลมคล้ายใบไผ่ หูใบสั้นมาก (หูรูด) ความกว้างของใบไม่เกิน 2 นิ้ว
นอกจากจำแนกตามรูปใบแล้วกยังจำแนกตามสีสันบนใบได้ดังนี้
- บอนไม่กัดสี คือ บอนที่ลักษณะสีคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่เล็กจนโต หรืออาจมีเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย แต่ยังคงสีเดิมให้เห็น
- บอนสกัดสั คือบอนที่มีการเปลี่ยนแปลงของสี ตอนเล็กเป็นสีเขียว แล้วจะค่อยๆ มีสีเพิ่มขึ้น พอโตเต็มที่ก็จะมีสีที่ชัดเจน อาจมีจุด เม็ด แต้ม ที่ชัดเจนเกิดขึ้นบนใบ ส่วนใหญ่เป็นบอนลูกผสมใหม่
- บอนป้าย เป็นบอนที่มีแถบด่างสีแดง พาดทับบนแผ่นใบสีเขียว ซึ่งเริ่มแสดงลักษณะตั้งแต่ใบที่ 1 หรือ 2 เช่นอัปสรสวรรค์
ข้อมูลจากหนังสือ "บอนสี ราชินีแห่งไม้ใบ" โดยสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น